ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเผ็ดร้อน
กลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นตัวรัฐมนตรี จากบุญทรง
เตริยาภิรมย์ เป็น นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นขต.(หน่วยขึ้นตรง) นายกรัฐมนตรี
แต่ที่ เมียนมาร์
ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง กำลังพัฒนาในแทบทุกด้านเพื่อไล่ตามกระแสโลก หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มผลผลิต
“ข้าว” ที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการตั้งเป้าให้ประเทศเป็น “ผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก”
ทั้งนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้
ระบุว่าธุรกิจข้าวในเมียนมาร์มีปัจจัยดึงดูดให้นานาชาติต่างจับตามอง
ในฐานะประเทศที่เป็นแหล่งการค้าการลงทุนที่น่าสนใจในขณะนี้
เมื่อประกอบกับนโยบายข้าวของเมียนมาร์ กับการตั้งเป้าหมายทวงคืนตำแหน่งผู้นำด้านการส่งออกข้าว
จึงนับเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญต่อการพัฒนาระบบการผลิตข้าวของเมียนมาร์ไปสู่กลไกเชิงพาณิชย์มากขึ้น
ดังนั้น
การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิตข้าวจึงเป็นหนึ่งในโอกาสที่ไม่ควรมองข้ามของผู้ประกอบการไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า
สถานการณ์ราคาส่งออกข้าวของไทยที่อยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งหลัก
ส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทยที่ต้องเผชิญความท้าทายเป็นอย่างมาก
จึงนับเป็นโอกาสอีกช่องทางหนึ่งของผู้ประกอบการไทย
เพื่อแสวงหาโอกาสในธุรกิจข้าวของเมียนมาร์เพื่อต่อยอดธุรกิจข้าวไทย
ประเทศเมียนมาร์ปัจจุบันยังผลิตข้าวแบบดั้งเดิม
คือ ผลิตเพื่อยังชีพ โดยเน้นใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก มีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรน้อย
แต่มองจากความพยายามในการเร่งพัฒนาการผลิตข้าวสู่ระบบที่เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น
คงจะทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวของเมียนมาร์น่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่ยากนัก คือ 2
ล้านตันในปี 2556 และ 3 ล้านตันในปี 2558 (หากไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรงเสียก่อน)
หลังจากที่การส่งออกข้าวของเมียนมาร์ทำได้ตามเป้าหมายที่ 1.5 ล้านตันแล้วในปีงบประมาณ
2555/2556
ในอนาคตคาดว่าเมียนมาร์อาจก้าวขึ้นมามีบทบาทติดอันดับ 1 ใน 5
ของประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักในโลก ทัดเทียมกับอินเดีย เวียดนาม และไทย
ด้วยปริมาณการส่งออกข้าวไม่น้อยกว่า 5 ล้านตันในอีก 10
ปี
ปัจจัยดึงดูดในธุรกิจข้าวของเมียนมาร์ที่สำคัญคือ ความแข็งแรงในธุรกิจข้าวของเมียนมาร์เอง
ทั้งเป็นพืชเกษตรหลัก อาชีพหลัก ความมีชื่อเสียงของข้าว (ข้าวหอมพันธุ์ “Pearl Paw San”
ของเมียนมาร์ได้รับรางวัลเป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลกประจำปี 2554) ความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติ
แหล่งแรงงานราคาถูกจำนวนมาก การเปิดประเทศ
โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว
เทคโนโลยีด้านการเกษตร ระบบชลประทาน ส่งผลให้เมียนมาร์มีผลผลิตข้าวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก
2.35 ตันต่อเฮกตาร์ในปี 2554 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.67 ตันต่อเฮกตาร์ในปี 2556
(ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา) ซึ่งหนุนต่อการผลักดันการส่งออกเพิ่มขึ้น
และมีโอกาสกลับมารุ่งเรืองในธุรกิจข้าวของโลกได้ โดยตลาดเป้าหมายส่งออกหลัก ได้แก่ แอฟริกา บังกลาเทศ
อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น
และยุโรป
อีกปัจจัยหนึ่งที่สอดรับกับนโยบายนี้คือ นโยบายเปิดประเทศ
ที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชากรชาวเมียนมาร์ เช่น ญี่ปุ่น
ลงทุนตั้งโรงสีข้าวและโรงงานแปรรูปข้าวขนาดใหญ่รวม 3 แห่ง
และยังมีแผนปลูกข้าวและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้เมียนมาร์, สหรัฐอเมริกา
กำลังสำรวจลู่ทางการลงทุนวิจัยด้านพันธุ์ข้าว, จีน จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสม
และลงทุนปลูกข้าวในเมียนมาร์ รวมถึงสิงคโปร์ ลงทุนปลูกข้าวโดยร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่นในเมียนมาร์
นอกจากนี้ ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2556 ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวเมียนมาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี
หลังจากเมียนมาร์ชนะการประมูลข้าวด้วยจำนวน 5,000 ตัน ในราคาตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย หากต้องการเข้าไปลงทุนธุรกิจข้าวในเมียนมาร์
อาจเข้าไปในลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิตข้าว โดยพิจารณาแนวทางการรวมกลุ่มไปข้างหลัง (Backward
Integration) เช่น ผู้ส่งออกอาจพิจารณาการไปตั้งโรงสี และรวมตัวกับผู้ขายวัตถุดิบ
เพื่อควบคุมปัจจัยการผลิต
การลงทุนโรงสีในเมียนมาร์นับว่ามีลู่ทางที่พอเป็นไปได้
โดยใช้เมียนมาร์เป็นฐานการส่งออกข้าว ในแง่การเข้าไปลงทุนร่วมพัฒนาโรงสีข้าว
โดยไทยนำเอาเทคโนโลยีไปเพิ่มความสามารถให้เมียนมาร์
ซึ่งสอดรับกับความต้องการของเมียนมาร์เองที่ต้องการโรงสีที่ทันสมัย เนื่องจากปัจจุบันโรงสีกว่าร้อยละ 80
ในเมียนมาร์ยังเป็นโรงสีขนาดเล็กที่มีเทคโนโลยีการผลิตต่ำ
ส่งผลต่อคุณภาพข้าวที่อาจมีข้าวเมล็ดหักปริมาณสูง
อีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยคือ ผู้ค้าข้าว (Trader) ในเมียนมาร์เพื่อส่งออก
และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่คาดว่าจะเติบโตตามการเร่งฟื้นฟูธุรกิจข้าวในเมียนมาร์ด้วย เช่น ปุ๋ย
และเครื่องจักรกลทางการเกษตร
จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม
ในระยะสั้น ความท้าทายของผู้ประกอบการไทยยังมีอยู่มาก ทั้งประเด็นกระบวนการทางกฎหมาย อาทิ
ขั้นตอนการจัดตั้งโรงสีในเมียนมาร์ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องขออนุญาตจากภาครัฐในหลายพื้นที่และหลายกระทรวง
ความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบชลประทานยังไม่ทั่วถึง เส้นทางคมนาคมหลายแห่งยังมีสภาพทรุดโทรม
และที่สำคัญคือระบบไฟฟ้ายังมีไม่เพียงพอ
แต่ในอนาคต หากปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ
เหล่านี้พัฒนาไปมากขึ้น พร้อม ๆ กับการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ
แนวทางขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อม
ทั้งนี้ การลงทุนธุรกิจข้าวในเมียนมาร์ควรหาคู่ค้าที่เป็นนักธุรกิจท้องถิ่น
จึงจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ ซึ่งจะช่วยอำนวยให้ธุรกิจไทยเข้าถึงตลาดได้ดีขึ้น นอกจากนี้
ควรคำนึงถึงสัดส่วนการถือหุ้นที่เมียนมาร์ต้องการให้คนเมียนมาร์ถือหุ้นข้างมาก
ข้อกฎหมายเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน และรูปแบบธุรกรรมที่ยังไม่เป็นสากล
ท้ายที่สุด
แม้ว่าการขยายการลงทุนในธุรกิจข้าวเมียนมาร์จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย
แต่ในระยะยาวควรต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสายการผลิตอย่างรอบด้าน
เพราะหลายประเทศต่างมีนโยบายปกป้องธุรกิจข้าวภายในประเทศมากขึ้นด้วย
Article source : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1372844967